ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบขับถ่าย ทำหน้าที่ ขับถ่ายของเสีย (Waste Product) ที่เป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร (Metabolism) ภายในร่างกาย โดยร่างกายจะกำจัดของเสียออกมาทางผิวหนัง ปอด ไต และลำไส้ใหญ่ โดยผิวหนังขับของเสียออกมาในรูปเหงื่อ ปอดขับของเสียออกมาในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลำไส้ใหญ่กำจัดของเสียในลักษณะของกากอาหาร และขับถ่ายของเสียจากไตในรูปของปัสสาวะ โดยไตจะดึงเอาสารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตกลับคืนเข้าสู่ร่างกายและขับเฉพาะส่วนที่เป็นของเสียซึ่งไม่มีความจำเป็นหรือเป็นผลเสียต่อการดำรงชีวิตออกไป ของเสีย หมายถึง สารที่เกิดจากกระบวนการเมแทบอลิซึมภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยูเรีย หรือสารที่มีประโยชน์มีปริมาณมากเกินไปร่างกายก็จะกำจัดออก ความสำคัญของระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบขับถ่ายปัสสาวะ เป็นระบบที่สำคัญต่อร่างกายระบบหนึ่ง เนื่องจากเป็นระบบที่มีหน้าที่ในการควบคุมความเป็นกรด และด่างภายในร่างกายให้เหมาะสม โดยเฉพาะในร่างกายของมนุษย์นั้นมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากที่สุด ดังนั้นการควบคุมความเป็นกรดด่างภายในร่างกายของมนุษย์โดยการขับออกมาในรูปของปัสสาวะจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ระบบปัสสาวะทำหน้าที่รักษาปริมาณของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ในร่างกายให้คงที่โดยการขับถ่ายของเสีย (Waste Product) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolism) ของร่างกาย ระหว่างการขับถ่ายของเสีย ไตจะดึงเอาสารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Essential Material) กลับคืนเข้าสู่ร่างกาย และขับเฉพาะส่วนที่เป็นของเสียซึ่งไม่มีความจำเป็นหรือเป็นผลเสียต่อการดำรงชีวิตต่อไป อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ ไต (Kidneys) มี 1 คู่ คล้ายเม็ดถั่ว จะอยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลังตรงบริเวณเหนือเอว มีหน้าที่กำจัดของเสียออกจากเลือด ควบคุมสมดุลน้ำ รักษาความเป็นกรด-ด่าง ผลิตฮอร์โมนและสารบางชนิด และกักเก็บสารที่มีประโยชน์ ท่อไต (Ureters) มี 2 ท่อ ต่อจากไตข้างละท่อ จะนำปัสสาวะที่ไหลจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder) มีหน้าที่รับน้ำปัสสาวะที่กรองจากไตและเป็นที่พักชั่วคราว กลไกการขับถ่ายจะขึ้นอยู่กับระบบประสาทอัตโนมัติ ท่อปัสสาวะ (Urethra) เป็นส่วนที่ต่อจากกระเพาะปัสสาวะ เพื่อนำน้ำปัสสาวะออกสู่ภายนอก
![]() ระบบขับถ่ายปัสสาวะ แหล่งที่มา : กุสุมาวดี คำเกลี้ยง และคณะ. สุขศึกษา 5. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์เอมพันธ์, 2558. หน้าที่ของอวัยวะที่เกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ หน้าที่ของไต 1. สร้างน้ำปัสสาวะที่เกิดจากการกรองน้ำโลหิตที่ไต ซึ่งของเสียส่วนใหญ่จะเป็นของเสียที่เกิดจากขบวนการเมแทบอลิซึม (Metabolism) ของเซลล์ และขับออกทางหลอดไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ 2. ขับของเสียจากกระบวนการเมทาบอลิซึมของร่างกาย ได้แก่ ยูเรีย (Urea) ครีเอตินิน (Creatinine) แอมโมเนีย (Ammonia) กรดยูริก (Uric Acid) และสารพิษที่ร่างกายไม่สามารถทำลายได้ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงในการช่วยกำจัดสารพิษที่เข้าไปในร่างกายแล้วขับออกกับน้ำปัสสาวะ 3. กักเก็บสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กลูโคส กรดอะมิโนฮอร์โมน วิตามินต่างๆ เป็นต้น 4. รักษาสมดุลของน้ำภายในร่างกาย และเป็นตัวทำละลายสำหรับสารต่างๆที่เป็นของเสียจากขบวนการเมแทบอลิซึมที่ร่างกายขับออก ไตจึงเป็นตัวควบคุมปริมาณในร่างกายไม่ให้มีการขับน้ำออกมามากเกินไป 5. ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ขับแร่ธาตุที่มีมากเกินความต้องการออก และดูดกลับแร่ธาตุส่วนที่ร่างกายต้องการเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผนังของท่อไต 6. รักษาสมดุลของกรด-ด่างในโลหิต โดยทั่วไปแล้ว โลหิตจะมีค่า pH ประมาณ 7.4 ซึ่งเป็นระดับที่เซลล์ในร่างกายสามารถทำหน้าที่ได้ การที่โลหิตมีค่า pH เป็นด่าง (Alkalosis) หรือค่า pH เป็นกรดมากเกินไป (Acidosis) จะส่งผลให้การทำงานของเซลล์มีประสิทธิภาพลดลง 7. สร้างและหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และสร้างสารเรนิน (Ranin) ที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับคงที่ โดยในแต่ละวันนั้น โลหิตที่หมุนเวียนอยู่ในร่างกายจะต้องไหลผ่านมายังไต ซึ่งประมาณการว่าในแต่ละนาทีจะมีโลหิตถูกส่งมายังไตประมาณ 1,200 มิลลิลิตรต่อนาที หรือประมาณวันละ 180 ลิตร 2. กรวยไต คือ ช่องกลวงภายในไต รูปร่างเหมือนกวย ส่วนของก้นกรวยจะติดต่อกับก้านกรวยซึ่งก้านกรวยก็คือท่อไตนั่นเอง 3. ท่อไต (Ureters) เป็นท่อกลวงที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อเรียบทั้งหมด มีจำนวน 2 ท่อ แต่ละท่อจะมีความยาวประมาณ 10-12 นิ้ว โดยท่อไตจะเป็นทางติดต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่รับน้ำปัสสาวะจากไต เพื่อส่งต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งการส่งผ่านน้ำปัสสาวะเกิดจากการบีบตัวของผนังกล้ามเนื้อเรียบที่ล้อมรอบท่อไต บริเวณท่อไตส่วนที่ต่อระหว่างท่อไตกับกระเพาะปัสสาวะกับกระเพาะปัสสาวะจะมีลิ้น (Valves) อยู่ภายในท่อ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนกลับของน้ำปัสสาวะเข้าสู่ไต 4. กระเพาะปัสสาวะ (Urinary Bladder) เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อภายใน เป็นโพรงสำหรับพักปัสสาวะก่อนที่จะขับออกนอกร่างกาย ในกระเพาะปัสสาวะจะมีทางเปิด 3 ช่อง คือทางเปิดของท่อไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ จำนวน 2 ช่อง และเปิดออกสู่ท่อปัสสาวะ จำนวน 1 ช่อง หน้าที่สำคัญของกระเพาะปัสสาวะคือ รับน้ำปัสสาวะที่กรองมาจากไตและเป็นที่พักชั่วคราวของน้ำปัสสาวะ เพื่อป้องกันมิให้ปัสสาวะไหลออกทางท่อปัสสาวะตลอดเวลา และเมื่อกระเพาะปัสสาวะรวบรวมปัสสาวะมากเท่าที่สามารถบรรจุได้ ก็จะมีการขับถ่ายออกเป็นครั้งคราว โดยมีระบบประสาทส่วนกลางเป็นตัวควบคุมการขับถ่ายอย่างอัตโนมัติ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะออกมา กระเพาะปัสสาวะสามารถขยายตัวได้จากขนาดปกติครั้งละน้อยๆ คือ ขยายได้ครั้งละ 1 มิลลิเมตร จนเต็มที่ได้ถึง 1 ลิตร เมื่อกระเพาะปัสสาวะรับน้ำปัสสาวะได้ประมาณ 200-400 ซี.ซี.(โดยเฉลี่ย คือ ประมาณ 250 ซี.ซี.) จะเกิดความรู้สึกปวดปัสสาวะ อยากขับปัสสาวะออกทันที แต่พบว่าในบางครั้งกระเพาะปัสสาวะสามารถที่จะขยายตัวได้ถึง 700 ซี.ซี. (หากมีการกลั้นปัสสาวะ) แต่ถ้าหากเกินกว่านั้นโดยไม่มีการขับถ่ายปัสสาวะออกมา จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ 5. ท่อปัสสาวะ (Urethra) เป็นส่วนที่ต่อมาจากกระเพาะปัสสาวะ เพื่อนำปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย ในเพศหญิงท่อปัสสาวะจะมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ในขณะที่เพศชายจะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร |