อาหารไม่ย่อยIndigestion อาหารไม่ย่อยเป็นภาวะที่แสดงออกด้วยอาการปวดท้อง ไม่สบายในช่องท้องส่วนบนหรือหน้าอก ที่มักจะเกิดหลังจากการรับประทานอาหาร บางคนอาจเรียกภาวะนี้ว่าโรคกระเพาะอาหาร 
อาการของอาหารไม่ย่อย
ความผิดปกติจากภาวะอาหารไม่ย่อยอาจมีอาการหลายอย่าง ได้แก่ ความรู้สึกปวดแน่นไม่สบายในช่องท้องส่วนบน แสบร้อนที่หน้าอก ท้องอืดเฟ้ออยากเรอ เบื่ออาหาร ทั้งนี้ระดับอาการของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไป ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงรุนแรงมาก มีทั้งที่เป็นชั่วครั้งชั่วคราวหรือเป็นต่อเนื่องเรื้อรังขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ดังนั้นหากคุณดูแลรักษาอาการด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ก็ควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบอาการซึ่งบ่งชี้ถึงความผิดปกติที่ร้ายแรงร่วมด้วย ดังนี้
• น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• ถ่ายดำเหลว (คล้ายน้ำมันดิน) และมีกลิ่นเหม็นมาก
• กลืนลำบาก อาเจียนบ่อยหรืออาเจียนมีเลือดปน
• หายใจหอยเหนื่อยและเหงื่อออก
• มีอาการครั้งแรกในขณะที่มีอายุ 55 ปีหรือมากกว่าและยังมีอาการต่อเนื่อง สาเหตุของอาหารไม่ย่อย
อาการอาหารไม่ย่อยอาจเกิดจากการอักเสบของชั้นเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร หลอดอาหารและลำไส้ ซึ่งอาจถูกกระตุ้นจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ภาวะเครียด การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) การรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารไขมันสูง การมีน้ำหนักตัวมากเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งไปเพิ่มแรงดันต่อกระเพาะอาหารและนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อย ความเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย
• การมีแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารได้ทำความเสียหายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร • เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่อาศัยอยู่ในชั้นเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร สามารถเพิ่มความเสียหายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ โดยทำให้การผลิตกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น • มะเร็งกระเพาะอาหารก็ทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้เช่นกัน การตั้งครรภ์กับอาการอาหารไม่ย่อย
หญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย ซึ่งอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ และเกิดจากแรงดันต่อกระเพาะอาหารอันเนื่องมาจากขนาดมดลูกที่โตขึ้น
การตรวจวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อย
หลังจากสอบถามประวัติอาการและตรวจร่างกายแล้ว เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน แพทย์อาจแนะนำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อ Helicobacter pylori ด้วยการทดสอบจากลมหายใจหรือตรวจจากอุจจาระ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (biopsy) หรือการกลืนแป้งแบเรียมเอ็กซเรย์ (Barium swallowing X-ray) เพื่อแสดงสภาพด้านในของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การรักษาอาการอาหารไม่ย่อย
คุณสามารถดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยได้ด้วยการลดน้ำหนักตัวที่มากเกิน ไม่รับประทานอาหารมากและเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หยุดสูบบุหรี่ ลดความเครียด นอนในท่าศีรษะสูง รับประทานอาหารไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอนในกรณีที่คุณเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารอยู่
การใช้ยารักษาอาการอาหารไม่ย่อยด้วยตนเอง
ยาสะเทินฤทธิ์กรด (Antacid) เช่น ยา Aluminium hydroxide สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยปฏิกิริยาเคมีซึ่งจะไปลดความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร แต่ยาจะได้ผลช่วงเวลาสั้นๆ จึงต้องกินยาบ่อยๆ ซึ่งหากคุณใช้ยากลุ่มนี้แล้วได้ผลไม่ดี ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิด H2 (H2 receptor antagonists) เช่น ยา Ranitidine ที่จะลดปริมาณกรดที่หลั่งจากกระเพาะอาหารลงได้ และถ้ายังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร คุณก็สามารถเลือกยาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไปยับยั้งการขับโปรตอนของเซลล์ในกระเพาะอาหาร (Proton pump inhibitors) เช่น ยา Omeprazole ซึ่งจะไปยับยั้งกระบวนการหลั่งกรดของกระเพาะอาหารทำให้กรดในกระเพาะอาหารลดลง
ยารักษาอาการอาหารไม่ย่อยที่สั่งใช้โดยแพทย์
ถ้าอาการยังมีต่อเนื่องหลังจากการใช้ยา Proton pump inhibitors แล้ว 2 สัปดาห์ คุณควรปรึกษาแพทย์ซึ่งอาจสั่งใช้ยากลุ่มที่เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ (Prokinetic drugs) ซึ่งสามารถลดอาการด้วยการทำให้อาหารผ่านกระเพาะอาหารไปได้อย่างรวดเร็ว และหากตรวจพบว่าคุณมีการติดเชื้อ Helicobacter pylori ร่วมด้วยแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยการใช้ยา 3 ชนิดร่วมกัน ประกอบด้วยยา Proton pump inhibitor และยาปฏิชีวนะอีก 2 ตัว
การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
การบำบัดด้วยการพูดคุย เช่น การบำบัดปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) อาจช่วยลดอาการในผู้ป่วยบางรายได้ ส่วนการใช้การผ่าตัดไม่ค่อยนำมาใช้ในการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย ยกเว้นว่าไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแล้ว ที่มา : https://www.aetna.co.th/ |